ประวัติสโมสรซอนต้าสากล

สโมสรซอนต้าสากล เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ให้บริการด้านสาธารณกุศล แต่ไม่มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการ (Non Government Organization หรือ NGO) มุ่งยกระดับสถานภาพของสตรี

ทางกฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และอาชีพ ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นสตรีระดับบริหารในอาชีพต่างๆ ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้นำ และอุทิศเวลาให้แก่สังคม ซอนต้าสากลได้รับเกียรติอย่างสูงจากสหประชาชาติให้เป็นที่ปรึกษาของยูนิเซฟ (UNICEF), อีโคช๊อค (ECOSOC), ยูเนสโก (UNESCO), ไอแอลโอ (ILO) และยังเป็นที่ปรึกษาของสภาแห่งยุโรป (Council of Europe) มีสมาชิกอยู่ทั่วโลกประมาณ 35,000 คน จาก 1,200 สโมสร ใน 67 ประเทศ (ข้อมูลล่าสุด ค.ศ.2010)

ชื่อ “ซอนต้า” มาจากภาษาอินเดียแดงเผ่าซู (Sioux Indian) หมายถึงความซื่อสัตย์ สุจริตและวางใจได้ สัญลักษณ์ของสโมสรประกอบด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ รวมกันภายใต้ความหมาย “ร่วมกันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน” โดยสมาชิกของสโมสรซอนต้า เรียกว่า “ซอนเชียน” (Zontian) มีสีประจำสโมสรคือสีน้ำตาลเปลือกไม้และสีทอง (Mahogany and Gold) ดอกไม้ประจำสโมสร คือดอกกุหลาบสีเหลือง

 

ซอนต้าสากลก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ.1919  ที่เมืองบัฟฟาโล มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยนายกก่อตั้ง ซอนเชี่ยน แมเรียน เดอ ฟอเรสต์ (Zontian Marian De Forest) นักแต่งบทละครและนักวิจารณ์ ปัจจุบันนี้ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองโอ๊คบรูค มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา สมาชิกภาพมาจากการรับเชิญ เนื่องจากได้ผ่านการกลั่นกรองแล้วว่าเป็นผู้มีเกียรติเป็นผู้นำเคยได้รับโอกาสอันดีจัดสังคมในการประกอบธุรกิจ หรือรับราชการจนได้รับผลสำเร็จในชีวิต ถึงเวลาที่จะเสียสละสิ่งที่ตนเคยได้รับให้แก่สังคมบ้าง จึงรวมตัวเข้าเป็นกลุ่มเรียกว่า “สโมสร” เพื่อร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม

การบริหารงานแบ่งออกเป็นภาค (District) ในภาคแบ่งออกเป็นเขต (Area) ในเขตแบ่งเป็นสโมสร (Club) ในสโมสรมีผู้บริหารหลักคือ นายกสโมสร นายกรับเลือก อุปนายก เหรัญญิก เลขาธิการ และประธานฝ่ายต่างๆ ตามกฎและระเบียบข้อบังคับของสโมสรซอนต้าสากล

สโมสรซอนต้าในประเทศไทย จัดอยู่ในเขต 6 ภูมิภาค 17 โดยปัจจุบันมี 15 สโมสร เรียงตามลำดับการก่อตั้งคือสโมสรซอนต้ากรุงเทพ 1, สโมสรซอนต้ากรุงเทพ 2, สโมสรซอนต้ากรุงเทพ 3, สโมสรซอนต้าขอนแก่น, สโมสรซอนต้ากรุงเทพ 4, สโมสรซอนต้ากรุงเทพ 5, สโมสรซอนต้ากรุงเทพ 6, สโมสรซอนต้าเชียงใหม่, สโมสรซอนต้ากรุงเทพ 7, สโมสรซอนต้าเชียงราย 1, สโมสรซอนต้าพิษณุโลก, สโมสรซอนต้าราชบุรี, สโมสรซอนต้ากรุงเทพ 8, สโมสรซอนต้ากรุงเทพ 9, สโมสรซอนต้าชุมแพ           

มูลนิธิซอนต้าสากลและกองทุนต่างๆ Zonta International Foundation

มูลนิธิซอนต้าสากลถูกจัดตั้งขึ้นจากการอนุมัติในการประชุมใหญ่ เมื่อ ปี ค.ศ.1984 ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดสรรและจัดหาทุน และช่วยและเงินช่วยเหลือต่างๆ ผู้บริหารมูลนิธิประกอบด้วยกรรมการ 9 ท่านซึ่ง 2 ใน 9 ท่านนี้คือ “นายก” (International President) และนายกรับเลือก (International President – Elect) กองทุนต่างๆ ที่บริหารโดยมูลนิธิฯ แบ่งตามประเภทการใช้งานเป็น 4 ประเภทและมีทั้งหมด 8 กองทุน

  1. “International Service Program” สนับสนุนโดย “International Service Fund”

กองทุนนี้เป็นแรงสนับสนุนโครงการสาธารณกุศลเพื่อสตรีทั่วโลก

  1. “International Strategies to Prevent Violence Against Women สนับสนุนโดย “ZISVAW FUND”

กองทุนนี้จะตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.1998 เพื่อให้การสนับสนุนโครงการต่างๆเพื่อยุติการกระทำรุนแรงต่อสตรีและเด็ก สโมสรซอนต้าสากลทั่วโลกที่มีโครงการลักษณะนี้ สามารถรับขอการสนับสนุนจากกองทุนนี้ได้

  1. “Educational Leadership  and  Youth Development” สนับสนุนกองทุนดังต่อไปนี้ “Amelia Earhart Fellowship Fund”

อมิเลีย เอียฮาร์ท เป็นซอนเชี่ยนที่มีความสามารถโดดเด่น เธอเป็นนักบินสตรีคนแรกที่บินเดี่ยวข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก และเป็นคนแรกที่บินรวดเดียวจากฝั่งทะเลตะวันตกสู่ฝั่งทะเลตะวันออก ของทวีปอเมริกานอกจากนี้ยังทำสถิติการบินอื่นๆ อีกหลายอย่าง เธอหายไปพร้อมกับเครื่องบินขณะพยายามบินรอบโลกหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเป็นเกียรติและระลึกถึงความเก่งกล้าสามารถของเธอใน ค.ศ.1938 สโมสรซอนต้าสากลจึงจัดตั้งกองทุน “Amelia Earhart Fellowship Fund” ขึ้นเพื่อมอบเป็นทุนการศึกษาแก่สตรีระดับปริญญาเอก ในสาขาวิทยาศาสตร์อวกาศ และวิศวกรรมอวกาศ หรือวิชาที่เกี่ยวข้องโดยให้การสนับสนุนการศึกษาปีละ 35 ทุน ทุนละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ผู้สนใจเข้ารับทุนจะต้องส่งใบสมัคร และเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยังมูลนิธิ ซอนต้าสากลภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน ของแต่ละปี ทั้งนี้มีนักศึกษาจากประเทศไทยได้รับทุนแล้ว 3 ท่าน

  1. “Jane M Klausman Woman in Business Scholarship Fund”

เจน เอ็ม คลอสแมน เป็นซอนเชี่ยนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างสูงโดยเริ่มจากอาชีพเลขานุการ และต่อมาภายหลังประกอบธุรกิจส่วนตัว เธอได้ทำพินัยกรรมมอบทุนให้แก่มูลนิธิซอนต้าสากล เพื่อสนับสนุนการศึกษาแก่สตรีในระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาบริหารธุรกิจกองทุนนี้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.1997 โดยให้การสนับสนุนการศึกษาปีละ 5 ทุน ทุนละ 5,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ผู้สนใจเข้ารับทุนนี้จะต้องส่งใบสมัครและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยัง District Governor ภายในวันที่ 1 มิถุนายนของแต่ละปี

  1. “Young Women in Public”

กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1990 เพื่อสนับสนุนการศึกษาแก่สตรีในระดับก่อนปริญญาตรี โดยเน้นสตรีที่มีความโดดเด่นในด้านการเป็นผู้นำ และต้องการก้าวไปสู่การทำงานเพื่อสาธารณะประโยชน์กองทุนมีให้การสนับสนุนใน 2 ระดับคือ “ระดับภาค” (Districts) รางวัลละ 500 ดอลลาร์สหรัฐ และ “ระดับสากล” (International) รางวัลละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ผู้สนใจเข้ารับทุนจะต้องส่งใบสมัคร และเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยัง District Governor ภายในวันที่ 1 เมษายนของแต่ละปี

  1. “Zonta International Operations” สนับสนุนโดยกองทุน “Rose Fund”

กองทุนมีสนับสนุนการบริหาร และธุรการของมูลนิธิซอนต้าสากล รวมทั้งสนับสนุนโครงการต่างๆ ของสโมสรในกรณีที่กองทุน ที่สนับสนุนโครงการนั้นๆ โดยตรงมีทุนไม่เพียงพอ

  1. “World Headquarters Property Preservation and Improvement (WHPPI) Fund”

มูลนิธิซอนต้าสากลได้ซื้ออาคารที่ทำการ Zonta International Headquarters ใน ค.ศ. 1986 แต่เนื่องจากเป็นตึกเก่าจึงต้องมีการปรับปรุง ดังนั้นกองทุนนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซม รวมทั้งดูแลรักษาอาคารที่ทำการนี้

  1. “Endowment Fund”

กองทุนนี้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1988 โดยมีนโยบายให้มูลนิธิซอนต้าสากลเริ่มเฉพาะผลกำไรที่ได้จากการบริหารกองทุนไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ หรือกิจกรรมเฉพาะตามความประสงค์ของผู้บริจาคโดยให้คงไว้ซึ่งเงินต้นที่ได้รับบริจาค ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.zonta.org

 

การก่อตั้งสโมสรซอนต้าประเทศไทย

สโมสรซอนต้าในประเทศไทยก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2512 โดยซอนเชี่ยน โดโรธี ทอมม์สัน นายกสโมสรโตรอนโต ประเทศแคนาดา ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการก่อตั้งสโมสรใหม่ ในภูมิภาคเอเชีย ของสโมสรเป็น Som Chairman และมีท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา เป็นนายกก่อตั้งท่านแรกร่วมด้วยคณะสุภาพสตรีไทย ที่ได้ก่อตั้งสโมสรซอนต้าประเทศไทย ประกอบด้วย

  1. ซอนเชี่ยน ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์นพวงศ์ ณ อยุธยา
  2. ซอนเชี่ยน ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย
  3. ซอนเชี่ยน ท่านผู้หญิงสมศรี เจริญรัชต์ภาคย์
  4. ซอนเชี่ยน คุณหญิงจินดา จรุงเจริญเวชช์
  5. ซอนเชี่ยน คุณหญิงมาลี พันธุมจินดา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
  6. ซอนเชี่ยน คุณหญิงแร่ม พรหมโรบล บุณยประสพ
  7. ซอนเชี่ยน คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ
  8. ซอนเชี่ยน คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร
  9. ซอนเชี่ยน คุณหญิงนันทกา สุประภาตนันท์
  10. ซอนเชี่ยน คุณหญิงสุภัทรา สิงหรกะ
  11. ซอนเชี่ยน คุณหญิงสุภาพ วีรวรรณ
  12. ซอนเชี่ยน คุณหญิงกนิษฐา วิเชียรเจริญ
  13. ซอนเชี่ยน คุณหญิงสำเนียง มุสิกภุมมะ
  14. ซอนเชี่ยน คุณหญิงทองก้อน จันทรวิมล
  15. ซอนเชี่ยน สุภาพร ปีเตอร์ส
  16. ซอนเชี่ยน ทันตแพทย์หญิงขนบพันธุ์ ยุกตะนันท์
  17. ซอนเชี่ยน สันสนีย์ ยมะสมิต
  18. ซอนเชี่ยน พลตรีแพทย์หญิงมยุรี พลางกูล
  19. ซอนเชี่ยน จินดา สิงหปรีชา
  20. ซอนเชี่ยน สมจิตต์ สิทธไชย
  21. ซอนเชี่ยน เพ็ญศรี เคียงศิริ
  22. ซอนเชี่ยน ประจวบ ตันตราภรณ์
  23. ซอนเชี่ยน จิรา จงกล
  24. ซอนเชี่ยน นิทัศน์ ธีรวิทย์
  25. ซอนเชี่ยน เนเน็ต ศริรสัมพันธ์
  26. ซอนเชี่ยน จำนง ไรวา
  27. ซอนเชี่ยน ภัทรภรณ์ ดุลยจินดา
  28. ซอนเชี่ยน สุภัทร สวัสดิ์รักษ์
  29. ซอนเชี่ยน เฉลิมวรรณ ชูทรัพท์
  30. ซอนเชี่ยน ชูศรี สวัสดิสงคราม